เปิดโบส์มหาอุตม์พบพระโบราณเก่าแก่อายุ 200 ปี

เปิดโบส์มหาอุตม์พบพระโบราณเก่าแก่อายุ 200 ปี


วัดพระศรีอารย์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เปิดโบสถ์เก่าโบราณมหาอุตม์ สมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระพุทธรูปเก่าแก่ 200 ปี ให้ประชาชนสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอได้ไหว้รับ เรื่องหน้าที่การงานสำเร็จสมหวัง มีคนดวงดีถูกรางวัลใหญ่ 18 ล้าน ได้สร้างอุโมงค์ไฟนับแสนดวงถวาย
( 31 พ.ค. 66 ) พระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้เปิดเผยถึงโบสถ์มหาอุตม์เป็นโบถส์เก่าแก่ของวัดอายุราว 200 กว่าปีมาแล้ว ตั้งอยู่ภายในสวนป่าวัดพระศรีอารย์ หากมองดูสภาพภายนอก พบว่ามีการปลูกสร้างอาคารใหม่ครอบหลังเก่าที่อยู่ด้านในไว้ ด้านหน้าพบซากปรักหักพังของเจดีย์เก่าแก่ โผล่ให้เห็นถึงอิฐเก่าโบราณมีตะไคร่ขึ้นอยู่ตามรอยแตกร้าวทรุดโทรมมาก ส่วนด้านในมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ จากประวัติที่เขียนจารึกสันนิษฐานไว้ด้านในทราบว่าเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. 2275 ตัวอุโบสถสร้างด้วยอิฐถือปูน กว้างประมาณ 4.75 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร เป็นอุโบสถมหาอุตม์ มีเพียงประตูหน้า ไม่มีประตูหลังและหน้าต่าง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 พ.ศ. 2530 พ.ศ. 2537 พ.ศ. 2540 ภายในมีพระพุทธรูปเก่าแก่ 7 องค์ คือ หลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อพลอย และหลวงพ่อปาน เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยอิฐดินเผาศิลปะพื้นบ้าน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกับอุโบสถ
นอกจากนี้ยังพบครุฑองค์ใหญ่ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่หลังองค์พระพุทธรูปองค์ประธาน และอีกองค์ติดไว้บนผนังของอุโบสถ บริเวณฐานพระพบร่องรอยอิฐเก่าโบราณมีสภาพเก่าชำรุด บางจุดแตกหักร้าวไปตามกาลเวลา มีพระพุทธรูปอยู่ 2 องค์ที่บริเวณริมฝีปากเป็นสีแดง ไม่เหมือนพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ซึ่งมีชาวบ้านได้เข้ามาสักการะขอพร ขอโชคลาภกันไม่ขาดสาย ยิ่งใกล้วันหวยออกก็จะมีประชาชนเดินทางมากันขอเรื่องโชคลาภ หน้าที่การงาน หลายคนสำเร็จสมหวังก็จะกลับมาแก้บนภายใน 3 วัน 7 วัน
ส่วนทางด้านทิศเหนือจะมีสระน้ำ และศาลปู่ดำ ศาลปู่ขาว ซึ่งเป็นศาลที่อยู่คู่กับอุโบสถหลังนี้ ว่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน มีชาวบ้านมาเขย่าเซียมซีขอโชคลาภ เมื่อสำเร็จก็จะนำประทัดมาจุดแก้บนถวายกันเป็นจำนวนมาก
พระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ เปิดเผยว่า โบสถ์หลังนี้อายุประมาณ 200 ปี ในประเทศไทยมีโบสถ์เก่าแก่อยู่กว่า 3 หมื่นวัด แต่ที่เป็นโบสถ์มหาอุตม์น่าจะมีไม่ถึง 100 วัด ที่ยังเหลือหลักฐานยืนยันว่าเป็นโบสถ์เก่า ส่วนที่วัดนี้ยังมีสระน้ำเก่าโบราณอยู่ มีศาลเจ้าที่มีเจดีย์ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ และยังมีโบสถ์มหาอุตม์ ขอให้ดูที่สภาพของอิฐของเจดีย์ที่เก่าแก่ บริเวณแท่นพระประธานบ่งบอกว่าเป็นยุคสมัยเดียวกัน ดูบริเวณพระพักตร์ขององค์พระประธานเป็นรูปไข่ในยุครุ่นรัตนะ อายุประมาณ 200 ปี ยังมีความสมบูรณ์งดงาม บริเวณรอบโบสถ์ยังคงมีต้นไม่ใหญ่อยู่หลายต้น ยังคล้าย ๆ มีสภาพเป็นป่าค่อนข้างรกร้างอยู่ที่บริเวณวัดที่จะไม่ค่อยมีใครทราบประวัติความเป็นมา ตอนนี้มีชาวบ้านหลายคนเริ่มทราบเรื่องโบสถ์เก่าและเข้ามาสอบถามถึงประวัติกันมาก ซึ่งในสมัยเจ้าอาวาสองค์เก่ามีธนาคารเก่า อาคารเก่า ๆ ที่มีครุฑอยู่ หลายคนนำครุฑไปครอบครองเก็บไว้กับบ้าน อยู่มาวันหนึ่งเกิดปัญหาภายในครอบครัว จึงนำครุฑนั้นมาถวายไว้ในโบสถ์มหาอุตม์ ตามหลักโบสถ์มหาอุตม์จะไม่มีประตูหลัง จึงเป็นที่มาของมีครุฑหลังพระประธาน ความเชื่อถ้าคนอยากได้อำนาจ จากโบสถ์มหาอุตม์ก็ให้เอามือไปอธิษฐานจิตลูบไปที่องค์ครุฑที่อยู่หลังพระประธานพระเพื่อขอพรสิ่งที่หวังไว้ ถือเป็นความเชื่อ หญิงชายมาเป็นคู่มาจับมือกันก็จะได้เป็นคู่กัน บางคนจะสอบไล่ทหารก็มาขอศาลปู่ดำที่ข้างโบสถ์ ชาวบ้านขอพรให้ลูกจับได้ใบดำ ให้ไม่ถูกทหาร และยังมีขอ ยศตำแหน่ง ตอนนี้ในหมู่บ้านมีนายทหารยศนายพลหลายคนแล้วที่มาขอพรท่านที่นี่ก็สมหวัง เพราะชาวบ้านเขาเชื่อกันอย่างนั้น
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาก็สามารถนำเงินหยอดใส่ตู้ตามกำลังศรัทธาได้และอธิษฐานขอพรสิ่งที่คิดไว้ สุดแต่บุญกุศลของแต่ละคนที่เคยทำไว้ อย่างด้านหน้าโบสถ์ที่มีการสร้างอุโมงค์ไฟดวงเล็ก ๆ กว่า 1 แสนดวงนั้น มีชาวบ้านถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 18 ล้านบาทเมื่องวดที่แล้ว จึงมีจิตศรัทธาขอสร้างอุโมงค์ไฟถวายวัดให้ เนื่องจากช่วงบริเวณทางเดินจะมีกิ่งไม้และดอกไม้หล่นใส่ชาวบ้าน จึงจัดสร้างอุโมงค์พลาสติกประดับดวงไฟดวงเล็ก ๆ ทางวิทยาลัยเทคนิคโพธาราม ได้มีจิตอาสาจึงมาช่วยกันทำอุโมงค์จนใกล้เสร็จแล้ว ส่วนในวันที่ 2 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ชาวบ้านที่ถูกรางวัลใหญ่คนนี้ได้ว่าจ้างรำวงคณะใหญ่มาเล่นสมโภชที่วัดด้วย


ใครสนใจอยากจะมาทำบุญก็สามารถเดินทางมาที่วัดได้ตามกำลังศรัทธา หรือ จะโอนเงินร่วมทำบุญได้ที่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ วัดพระศรีอารย์ บัญชีเลขที่ 595-218-2851 หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่พระครูวิทิตพัฒนโสภณ เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ เบอร์ 063-2218589

พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย /รายงาน

Related posts