โรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์ประชุมคณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อม

โรงไฟฟ้าหินกองเพาเวอร์จัดประชุมคณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อม มีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ร่วมนำเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนหลายด้าน


( 30 พ.ค. 66 ) นายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานการประชุมคณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าหินกอง ( บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ) ที่ห้องประชุมโรงแรม ณ เวลา อ.เมืองราชบุรี โดยมีนายชาญวิทย์ วิจิตรธนาสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหินกองเพาเวอร์ จำกัด นายวิเชียร เพ็ชรรัตน์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัทหินกองเพาเวอร์ จำกัด พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวบ้าน เข้าร่วมประชุม โดยทางโรงไฟฟ้าได้มีการนำเสนอความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการขณะนี้แล้วเสร็จไปประมาณ 86.0เปอร์เซ็นต์แล้ว แบ่งเป็น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 85.9 เปอร์เซ็นต์ ท่อน้ำดิบและท่อน้ำทิ้ง 89.2 เปอร์เซ็นต์ ท่อก๊าซธรรมชาติ 88.0 เปอร์เซ็นต์ มีการเริ่มสูบน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเมื่อวันที่ 1 มีค. 2566 เริ่มทำการติดตั้งเครื่องจักร หน่วยผลิตที่ 2 เมื่อวันที่ 30 เมย. 2566 โดยรัศมีของพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าหินกองฯจะมีพื้นที่เกี่ยวข้องได้แก่ อบต.หินกอง อบต.ห้วยไผ่ อบต.เกาะพลับพลา อบต.เจดีย์หัก อบต.ดอนตะโก อบต.ดอนแร่ เทศบาลตำบลเขางู
สำหรับการดำเนินการตามมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำผิวดิน การจัดการกากของเสีย การคมนาคมขนส่ง อาชีวะอนามัยและความปลอดภัย สังคมและเศรษฐกิจ การวางท่อส่งน้ำดิบและท่อน้ำทิ้ง คุณภาพน้ำและการระบายน้ำ ทางโครงการฯได้มีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามารวม 18 เรื่อง สามารถแก้ไขปัญหาไปแล้วจำนวน 15 เรื่อง ยังคงเหลืออีก 3 เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข
ในที่ประชุมทางผู้แทนชุมชนได้มีการนำเสนอให้ทางโครงการฯเร่งไขปัญหาหลายเรื่อง อาทิ อยากให้ทางโรงไฟฟ้าช่วยสร้างหอกระจายข่าวตามหมู่บ้านเพื่อส่งข่าวสารต่างๆไปให้ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ได้รับทราบข่าวสาร เนื่องจากขณะนี้ทางโรงไฟฟ้าฯได้แต่ส่งเป็นเอกสารถึงผู้นำชุมชนอย่างเดียว บางครั้งชาวบ้านอาจไม่รู้เรื่องราวข่าวสารอย่างทั่วถึง ถ้าโรงไฟฟ้ามีงบประมาณสามารถที่จะสร้างหอกระจายข่าวในชุมชนได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในชุมชนยิ่งขึ้น จะช่วยให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ครอบคลุมพื้นที่ ปัญหาต่างๆก็จะลดน้อยลง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาผลกระทบ เรื่องการคืนพื้นที่ การวางแนวท่อ การปรับสภาพคืนพื้นที่ช่วงการก่อสร้างยังไม่เรียบร้อย ชาวบ้านได้รับผลกระทบพื้นที่มีน้ำแฉะ บางส่วนพื้นดินทรุดเป็นร่องยาว เป็นหลุม บริเวณหมู่ 5 หมู่ 6 จึงขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขด่วน อยากให้ทางโครงการมีมาตรการคืนพื้นที่แก่ชุมชนตามที่ได้พูดคุยตกลงกับชาวบ้านไว้ให้เรียบร้อย สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยเร็ว พร้อมทั้งปลูกต้นไม้สร้างความร่มรื่นแก่พื้นที่ชุมชนในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตามด้านนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัด เปิดเผยในที่ประชุมว่า กรณีใดที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ขอให้ทางโรงไฟฟ้าไปช่วยดูด้วย ประเด็นเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้ละเลย คือหน้าที่ที่เรามาประชุมกัน และกลับไปชี้แจงให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้เข้าใจ แต่ทั้งหมดถือว่าเป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในการเข้าถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน

พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย /รายงาน

Related posts