หนึ่งเดียวในประเทศไทยขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น ของชุมชนจีนแคะห้วยกระบอก อ.บ้านโป่งจ.ราชบุรี ในงานประเพณีไหว้เจ้าพ่อสามภูเเขา
วันที่ 17 มีนาคม ไปชิมขนมโบราณของชุมชนโบราณตลาดเก่าห้วยกระบอก ในงานประเพณีไหว้เจ้าพ่อสามภูเขา ระหว่างวันที่ 15 – 19 มีนาคม ที่ตลาดเก่าห้วยกระบอก ถนนเทศบาล 2 บ้านห้วยกระบอก ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จีนแคะได้มีการอพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้มานานนับร้อยปีล่วงมาแล้ว โดยได้นำเอาวัฒนธรรมและประเพณี รวมทั้งขนมโบราณอย่างขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น แปลเป็นไทย มีชื่อว่า ขนมดอกไม้สีเหลือง ซึ่งมีให้ชิมแห่งเดียวในประเทศนำมาแปรรูปทำเป็นขนม ได้รับความนิยมจากชาวบ้านในชุมชนและเริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมที่ตลาดห้วยกระบอกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสีเหลืองทองที่มีมันและฟักทองผสมแป้งและวัตถุดิบ ที่นายวิโรจน์ ถาวรกีรติ อายุ 53 ปี เจ้าของร้านอาลี่กอ ตั้งอยู่ในชุมชนห้วยกระบอก เลขที่ 53 หมู่ 9 ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง ได้นำสูตรการทำขนมมาจากบรรพบุรุษ โดยนำถั่วเหลืองมาทำเป็นไส้ด้านในปั้นเป็นรูปทรงแบน นำไปนึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็สามารถนำออกจำหน่ายลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งหากกินกับน้ำชาจีนโบราณจะทำให้รสชาติกลมกล่อมน่ารับประทานอยู่ที่ร้านร่วมกับขนมที่ขึ้นชื่อของทางร้านอีกหลายชนิด
นายวิโรจน์ ถาวรกีรติ เจ้าของร้านลี่กอ กล่าวว่า ได้รับสูตรขนมดั้งเดิมมาแต่รุ่นโบราณบางคนก็ไม่ได้ทำกินกันแล้ว โดยจะเรียกขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของชาวจีนที่อพยพมาจากเมืองจีนและมาขึ้นเบียนอยู่ที่ห้วยกระบอก บางส่วนก็ไปอยู่ที่จ.จันทบุรี และต่างจังหวัด ส่วนมากจะเป็นชาวจีนแคะ สำหรับสูตรดั้งเดิมจะเป็นแป้งที่ผสมกับน้ำตาลทรายแดงใส่เนื้อมัน และจะใส่น้ำเชื่อมพอเดือดจะตักมานวดใส่กับตัวแป้งออกเป็นสีคล้ายลังกระดาษสีน้ำตาล ส่วนไส้จะเป็นไส้ถั่วเขียวที่นึ่งแล้วนำมาโขลกตำให้ละเอียดทำมาทำเป็นไส้ขนม จึงพัฒนาให้น่ารับประทานมากขึ้นใช้ตัวมันผสมกับตัวแป้ง ซึ่งน่าจะมีที่เดียวในประเทศที่หาชิมได้
ส่วนไส้ขนมจะใช้น้ำมะพร้าวน้ำหอมมาปั่นกับถั่วเขียวมาปั้นรวมกันแล้วนำมากวนจนเป็นเนื้อเดียวกันมาทำให้ไส้เนียนมากขึ้น นำมาปั้นลงบล็อกแล้วนำใส่ซึ้งไม่เกิน 15 นาที ขายชิ้นละ 15 บาท หากกินกับน้ำชาก็จะมีรสชาติออกหวานน้อยมันกลมกล่อม
นางนภศร โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัด กล่าวว่า หลังมีพิธีลงนามความร่วมมือหว่างมหาวิทาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เทศบาลตำบลกรับใหญ่และหลายภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมต่อยอดภูมิปัญญาทางด้านผลิตภัณฑ์ สิ่งแรกที่เจอคือเรื่องการเชิดสิงโต หลังจากพูดคุยกับพื้นที่ว่าการเชิดสิงโตได้สูญหายไปนานกว่า 50 ปีแล้ว จึงได้มีการรื้อฟื้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งในชุมชนมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย ใบโกฏจุฬาลัมพาที่พัฒนาต่ออดได้หลากหลายทั้งนำมาทำขนมเง่ปั้น หรือขนมโกฏจุฬาลัมพา และเครื่องดื่มสมุนไพร
ด้านผศ.ปรียาพร ทองพุด อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กล่าวว่า ชื่อโครงการจัดการการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ถิ่น ของชุมชนโบราณย่านตลาดเก่าห้วยกระบอกรอยต่อ 3 จังหวัด ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม มีหลายภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งได้มาช่วยกันฟื้นวัฒนธรรมเรื่องการเชิดสิงโตจีนแคะฮากกา ซึ่งเป็นเป็นชุมชนจีนแคะฮากกาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และการฟื้นครั้งนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิมถ่ายทอดสู่เยาวชน ที่นี่มีชื่อเสียงด้านอาหารที่หลากหลาย เช่น ขาหมูห้วยกระบอก ต้มช่อยกอนกระดูกหมู ผัดช่อยกอนคล้ายกับต้มจับฉ่ายจะมีแบบแห้งและแบบมีน้ำ รสชาติอร่อย โดยช่อยกอน หรือ ผักกาดตากแห้ง เป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวจีนแคะ และยังมีอาหารอีกหลายอย่าง
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเครือข่าย เช่น ภูมิปัญญาว่าวไทย ที่กำลังจะมีการส่งเสริมสนับสนุน การปั้นดินจากถ่านเป็นรูปตุ๊กตาต่างๆ การทำDIY นำมาให้เด็กๆได้ช่วยกันสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
ในงานยังได้รับเกียรติจากนายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นายเกียรติศักดิ์ หอมเย็นใจ นายอำเภอบ้านโป่ง นายธรรมรัตน์ วงษ์พิทักษ์โรจน์ นายกเทศมนตรีตำบลกรับใหญ่ นางนภศร โศรกศรี วัฒนธรรมจังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเดินเยี่ยมชมการจัดงาน โดยมีการแสดงภาพวาดงานศิลปะจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง การออกบูธว่าวไทย การจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่าง ๆ อาหารพื้นบ้านต่าง ๆ มีการตัดริบบิ้นเปิดงานภาพแสดงสามมิติบนผนังอาคาร การแสดงเชิดสิงโต มังกร การสักการะขอพรเจ้าพ่อสามภูเขา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวชมงานกันอย่างคึกคัก
////////////////////////////////////////////////
พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี