คณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าราชบุรี ดูงานการผลิตพลังงานที่สะอาด

( 8 ต.ค. 66 ) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นายจตุพร โสภารักษ์ กรรมการผู้จัดการฯ พร้อมด้วยนายเขมชาติ สถิตตันติเวช ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ (ฝอส.) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ได้นำคณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าราชบุรี จำนวน 30 คน เดินทางไปศึกษาดูงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน นครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 2 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการจัดการก๊าชชีวมวล และพลังงานไฮโดรเจนในอนาคต โดยมี รศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวบรรยายเรื่อง การจัดการก๊าซชีวมวล และพลังงานโฮโดรเจน เพื่อให้คณะผู้ตรวจการสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าราชบุรี ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์จากการผลิตพลังงานที่สะอาด และสามารถประยุกต์การใช้เทคโนโลยีด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไร้ออกซิเจน เพื่อการจัดการของเสียควบคู่ไปกับการผลิตและใช้ประโยชน์จาก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแนวทางการใช้พลังงานที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน นับว่าสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน นครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประสบความสำเร็จเรื่องของการวิจัยและพัฒนา การจัดการก๊าซชีวมวล และพลังงานโฮโดรเจน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านงานพลังงานทดแทน

รศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มีคนงานประมาณ 100 คน ทั้งคนงาน วิศวกร และช่างเทคนิค ให้บริการเรื่องของพลังงานทดแทน ใครอยากผลิตโซล่า ใครอยากผลิตไบโอแก๊ส ก็มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา มีการประเมินคาร์บอนเครดิต งานด้านการวิจัยปรับปรุงการเปลี่ยนหลอดให้มีประสิทธิภาพสูง การล้างแอร์ ล้างแผงโซล่าเซลล์ การปรับปรุงอาคารให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่ได้ทำเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเชีย ในประเทศไทยหลายพื้นที่ก็เป็นผู้ออกแบบ
สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นองค์กรในกำกับมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและงานบริการวิชาการ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา จัดการด้านการอนุรักษ์พลังงาน และสถานเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการย่อยสลายสารอินทรีย์แบบไร้ออกซิเจน เพื่อการจัดการของเสียควบคู่ไปกับการผลิตและใช้ประโยชน์จากก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน จัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ภายใต้ชื่อ “ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ” ต่อมา สถาบันฯได้รับพระราชทานชื่อใหม่จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาองค์การให้เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางด้านพลังงาน มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นอิสระจากระบบราชการ สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นแหล่งวิจัย ค้นคว้า และให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อสร้างประโยชน์ต่อประเทศ


สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานด้านพลังงานทั้งโครงการทางด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษ์พลังงาน ด้านงานวิจัย และด้านการให้บริการวิชาการ
ประกอบด้วย 1.งานพลังงานทดแทน ดำเนินงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทนทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล และพลังงานชีวมวล โดยการมุ่งเน้นงานพัฒนา และการวิจัย การให้บริการวิชาการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน
2. งานอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานทุกแขนง เช่น การจัดการการอนุรักษ์พลังงาน การตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงาน การอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม การวิเคราะห์การลงทุนด้านพลังงาน การศึกษาผลกระทบจากการใช้พลังงาน รวมถึงงานบริการการศึกษา การวิจัย พัฒนา และ บริการวิชาการแก่ภาครัฐและเอกชน
3. งานวิจัย ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงงานวิจัยของสถาบันไปสู่งานการศึกษาในทุกระดับ นำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพของสถาบันสู่สังคม ทั้งงานวิจัยในระดับงานสัมมนาวิชาการไปจนถึงงานวิจัยเพื่อชุมชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายวิจัยและวิชาการกับหน่วยงานที่มีศักยภาพทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ
4. งานบริการวิชาการ ให้บริการวิชาการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน และการจัดการระบบพลังงานของประเทศและนานาชาติ โดยส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงงานวิจัยของสถาบัน ไปสู่การให้บริการทางวิชาการในภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนานาชาติ


ภารกิจ วิสัยทัศน์ถูกนำมากำหนดเป็นภารกิจหลัก ในการดำเนินงานของสถาบัน พร้อมทั้งมีการตรวจสอบภายในและภายนอกองค์กร ทั้งนี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะ สั้นที่ชัดเจนและระยะยาวตามที่ได้วางแผนไว้ และยึดถือหลักการดำเนินงานตามภารกิจอย่างเคร่งครัด ภารกิจที่สำคัญขององค์กรประกอบไปด้วย มุ่งเน้นการพัฒนา วิจัย และส่งเสริมด้านก๊าซชีวภาพ
สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานที่มีคุณภาพ ทั้งด้านพลังงานทดแทน ด้านอนุรักษ์พลังงาน หรือ ประสิทธิภาพพลังงาน การจัดหาพลังงาน รวมถึงด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือเป็นผลกระทบจากพลังงาน ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงงานวิจัยของสถาบันกับการศึกษาในทุกระดับที่ สอดคล้องกับทางมหาวิทยาลัย รวมถึงการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ จนถึงระดับนานาชาติ ให้บริการทางวิชาการด้านพลังงาน และด้านที่เกี่ยวข้องหรือเป็นผลกระทบจากพลังงาน รวมถึงให้บริการแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ทางด้านพลังงานในทุกด้านที่สามารถ เผยแพร่สู่สังคม มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรของสถาบัน เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริงในด้านพลังงาน
ในส่วนระบบก๊าซชีวภาพ คือ ก๊าซที่ได้มาจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่าง ๆ ภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจนโดยมีจุลินทรีย์หลายชนิดทำ หน้าที่ย่อยสลาย ก๊าซชีวภาพเป็นก๊าซผสมระหว่างก๊าซมีเทน ( CH4 ) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) เป็นส่วนใหญ่


นอกจากนี้ยังอาจจะมีก๊าซไนโตรเจน ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ปนอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ก๊าซชีวภาพที่เกิดจากกระบวนการหมักจะมีปริมาณที่แตกต่างกันขึ้น กับวัตถุดิบที่ใช้และสภาวะของกระบวนการหมักด้วย โดยทั่วไปแล้วองค์ประกอบของก๊าซชีวภาพจะประกอบไปด้วย กิจการประเภทฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานเกษตรอุตสหกรรม และชุมชนที่มีน้ำเสียและของเสีย รวมถึงขยะอินทรีย์ สามารถนำวัตถุดิบเหล่านี้ มาผลิตเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของกิจการ อีกทั้งยังช่วยให้เพิ่มประสิทธิภารในการกำจัดน้ำเสียและของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับฟาร์มปศุสัตว์ “ มูลสัตว์ และน้ำเสียจากกิจกรรมเลี้ยงสัตว์ สามารถนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ด้วยเทคโนโลยี CHANNEL DIGESTER, HYBRID DIGESTER ” ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์ม รวมถึงนำไปเป็นเชื้อเพลิงความร้อนทดแทนก๊าซหุงต้ม ”
เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานเกษตรอุตสาหกรรม “ น้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานเกษตรอุตสาหกรรม เช่น โรงงานน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานกลั่นสุรา โรงงานเอทานอล โรงงานชำแหละและแปรรูปอาหาร โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยี CHANNEL DIGESTER, HYBRID DIGESTER, ABR, UASB ” ซึ่งปริมาณก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้เป็นจำนวนมากสามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในรูปแบบ VSPP หรือนำก๊าซชีวภาพไปปรับปรุงคุณภาพในรูปแบบก๊าซ BIOMETHAN”


เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับพืชพลังงาน “ การนำพืชมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน เพื่อรองรับสภาวะการขาดแคลนพลังงานในอนาคต เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม การนำพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ อ้อย ปาล์ม ข้าวโพด มันสำปะหลัง มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยี CSTR ที่มีคุณสมบัติสามารถรองรับวัตถุดิบที่เป็นทั้งของแข็งและของเหลวที่มีสารแขวนลอยสูง จะได้พลังงานทดแทนในรูปแบบก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในรูปแบบ VSPP, SPP หรือนำก๊าซชีวภาพไปปรับปรุงคุณภาพในรูปแบบก๊าซ CBG สำหรับยานยนต์”
เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับขยะมูลฝอย “ ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงขึ้นต่อเนื่องขึ้นทุกปี ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ จะใช้ระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบหมักแห้ง DRY-FERMENTATION ซึ่งระบบก๊าซชีวภาพแบบหมักแห้ง ” นอกจากจะสามารถรองรับขยะอินทรีย์ได้แล้ว ยังสามารถรองขยะมูลฝอยจำพวก ถุงพลาสติก ได้ประมาณ 10% ”

////////////////////////////////////////////
พันธุ์ – จรรยา แก้วนุ้ย จ.ราชบุรี

Related posts